ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในโลกของธุรกิจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเก็บข้อมูล การจัดการลูกค้า การพัฒนาหน้าร้านทางออนไลน์ โดยเฉพาะ Software-as-a-Service (SaaS) หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจยุคใหม่ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งในเชิงการตลาดก็มีการนำ SaaS ไปใช้กันอย่างกว้างขวาง
แล้ว Software-as-a-Service (SaaS) คืออะไร? สามารถนำไปใช้ในด้านใดได้บ้าง? ทำไมธุรกิจและนักการตลาดควรรู้จัก? หาคำตอบกันได้ในบทความนี้!
ยาวไป อยากเลือกอ่าน?
Software-as-a-Service (SaaS) คืออะไร?

Software-as-a-Service (SaaS) คือ การให้บริการซอฟต์แวร์บนระบบ Could ที่สามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาอย่างสะดวก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมให้ยุ่งยากก่อนใช้งาน ถ้าใครยังไม่แน่ใจว่า SaaS คืออะไร ให้ลองนึกถึงเว็บไซต์ที่คุ้นเคยอย่าง Canva, Google Drive และ Zoom ดู เพราะเว็บไซต์เหล่านี้ก็นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของ Software-as-a-Service เช่นกัน
SaaS vs. IaaS vs. PaaS
Software-as-a-Service (SaaS) คือ การให้บริการซอฟต์แวร์บนระบบ Cloud ที่ใช้งานได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต เข้าถึงซอฟต์แวร์จากอุปกรณ์ใดก็ได้ทุกเวลาได้ทางอินเทอร์เน็ต
ตัวอย่าง: Google Workspace, Microsoft Office 365, Salesforce, Slack, Zoom
Infrastructure-as-a-Service (IaaS) คือ บริการโครงสร้างพื้นฐานระบบไอทีสำหรับองค์กรโดยให้บริการเช่น พื้นที่เก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย และการจำลองเสมือนจริง มีความยืดหยุ่นสูงและปรับขนาดได้สูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
ตัวอย่าง: Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure, Google Cloud Platform (GCP), IBM Cloud
Platform-as-a-Service (PaaS) คือ เครื่องมือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ทางอินเทอร์เน็ต มักใช้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน สามารถสร้างบริการใหม่ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องเน้นนักพัฒนาที่มีทักษะสูงในการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์
ตัวอย่าง: Google App Engine, Microsoft Azure App Services, Heroku, Red Hat OpenShift
สรุปแล้ว SaaS เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องการจัดการด้านเทคนิค
IaaS เหมาะสำหรับผู้ใช้ที่ต้องการควบคุมทรัพยากรและระบบต่างๆ ด้วยตนเอง และ PaaS เหมาะสำหรับนักพัฒนาที่ต้องการแพลตฟอร์มในการพัฒนาและจัดการแอปพลิเคชันโดยไม่ต้องสนใจเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
Software-as-a-Service (SaaS) ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
จากที่เล่าไปว่า Software-as-a-Service (SaaS) เป็นบริการที่ใช้งานได้ง่ายๆ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต หลายคนอาจจะนึกถึงเว็บไซต์และระบบต่างๆ ที่ค่อนข้างให้บริการหลากหลายประเภทจนสับสนว่าจริงๆ แล้ว SaaS ทำอะไรได้บ้าง นี่เป็นตัวอย่างการใช้งาน SaaS ในปัจจุบันของธุรกิจ ได้แก่

- การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM): ช่วยให้ธุรกิจติดตาม จัดการ และวิเคราะห์การโต้ตอบกับลูกค้า ตัวอย่างที่นิยม เช่น Salesforce และ HubSpot
- การวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP): ช่วยให้ธุรกิจจัดการกระบวนการทางธุรกิจที่สำคัญอย่างด้านการเงิน การจัดซื้อ การผลิต และการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น Microsoft Dynamics 365
- ซอฟต์แวร์การตลาดทางอีเมล: ช่วยให้ธุรกิจสร้างและส่งแคมเปญทางอีเมลได้อย่าง่ายดายและสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น MailChimp
- ซอฟต์แวร์บัญชี: ช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามรายรับ รายจ่าย และสถานะทางการเงินได้ เช่น QuickBooks Online, Xero และ FreshBooks
- ซอฟต์แวร์ทรัพยากรบุคคล: ช่วยให้ธุรกิจจัดการข้อมูลพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจ้างงาน การสรรหาพนักงาน และข้อมูลเรื่องเงินเดือน เช่น ADP, Gusto, BambooHR
- ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัย: ช่วยให้ธุรกิจปกป้องข้อมูลและระบบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น McAfee, Symantec, Norton
- เครื่องมือการทำงานร่วมกัน: ช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Slack, Microsoft Teams, Zoom
- ซอฟต์แวร์การสื่อสาร:ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกันผ่านข้อความ เสียง หรือวิดีโอ เช่น Skype, GoToMeeting, Cisco Webex
- ซอฟต์แวร์ศูนย์บริการลูกค้า: ช่วยให้ธุรกิจจัดการคำถาม การร้องเรียน และการสนับสนุนลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Zendesk, Freshdesk, Help Scout
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ SaaS ที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันเท่านั้น นอกจากนี้ SaaS ก็ยังมีแอปพลิเคชันและเว็บไซต์อีกมากมายที่มีฟีเจอร์และฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายที่สามารถนำไปใช้ให้สอดคล้องกับเทรนด์ MarTech ในอนาคต ได้เช่นกัน
ทำไม Software-as-a-Service (SaaS) สำคัญกับธุรกิจยุคใหม่?
ในปัจจุบันที่โลกของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปโดยมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในเรื่องของการทำงานมากยิ่งขึ้น SaaS ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีความสำคัญกับธุรกิจหลากหลายด้าน ได้แก่
ต้นทุนต่ำ
SaaS มักมีรูปแบบการสมัครสมาชิกแบบรายเดือนและเปิดโอกาสให้ทดลองใช้ได้ฟรี ซึ่งช่วยให้ธุรกิจสามารถคาดการณ์ค่าใช้จ่ายได้ง่ายและหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่สูงสำหรับซอฟต์แวร์แบบเดิมๆ นอกจากนี้ SaaS ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งและบำรุงรักษาซอฟต์แวร์แบบภายในองค์กรอีกด้วย
แค่มีอินเทอร์เน็ตก็ใช้งานได้

อย่างที่บอกว่าระบบของ SaaS สามารถใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลาเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต โดยสามารถใช้บริการได้ผ่านทั้งทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสิ่งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและพนักงาน เนื่องจาก SaaS ช่วยให้พนักงานมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากยิ่งขึ้นจากการทำงานที่ไหนก็ได้บนโลกที่มีอินเทอร์เน็ต ตรงกับนโยบายของหลายองค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ Work from Home หรือ Work from Anywhere
ลดความเสี่ยงข้อมูลหาย
เนื่องจากระบบ SaaS มีการทำงานโดยเก็บข้อมูลไว้ในศูนย์กลางอัตโนมัติ เราไม่จำเป็นต้องมานั่งกดบันทึกบ่อยๆ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ง่าย และลดความเสี่ยงข้อมูลสูญหายได้มาก ลองจินตนาการตอนที่เราใช้งาน Google Docs ที่ระบบมีการบันทึกงานของเราอย่างอัตโนมัติเมื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าเราจะลืมกดบันทึก งานของเราก็คงอยู่ใน Docs นั้น ซึ่งต่างจากการทำงานจาก Microsoft Word แบบเก่าที่บางครั้งข้อมูลก็อาจจะสูญหายถ้าเราลืมกดบันทึก
ยกเลิกการใช้งานได้ตลอดเวลา
อย่างที่บอกว่า SaaS เป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถทดลองใช้งานได้ฟรี นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจแบบสมัครสมาชิกรายเดือน หรือ Subscription จึงสามารถยกเลิกการใช้งานได้ตลอดเวลาหากการใช้งานยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างง่ายดาย
Software-as-a-Service (SaaS) สำคัญกับนักการตลาดอย่างไร?
ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม

Software-as-a-Service (SaaS) ช่วยให้นักการตลาดสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นผ่านอินเทอร์เน็ต โดยแพลตฟอร์ม SaaS มักมีเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่ทรงพลังซึ่งช่วยให้นักการตลาดสามารถระบุและกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับแคมเปญการตลาดได้อย่างแม่นยำ
สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเป้าหมาย
SaaS มีเครื่องมือต่างๆ มากมายที่ช่วยให้นักการตลาดสามารถสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าเป้าหมายได้ดีมากขึ้น อย่างการใช้เครื่องมือ email marketing เพื่อสื่อสารกับลูกค้าเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่าน Mailchimp โดยนักการตลาดสามารถสร้างคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนได้โดยตรงเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายแต่ละคนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ลดอุปสรรคในการสมัครใช้งาน

ในการสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ต่างๆ บางเว็บไซต์อาจจะมีขั้นตอนการสมัครที่ยุ่งยากและเยอะจนทำให้กลุ่มเป้าหมายหลุดไปในขั้นตอนนี้ แต่ระบบ SaaS สามารถช่วยลดอุปสรรคในการสมัครใช้งานให้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรองรับการชำระเงินแบบออนไลน์ และมีตัวเลือกให้ทดลองใช้งานได้ฟรีซึ่งช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าเป้าหมายมีแรงจูงใจในการสมัครสมาชิกเพื่อทดลองใช้สินค้าหรือบริการฟรี
ดึงดูดให้ลูกค้าใช้งานอย่างต่อเนื่อง
เครื่องมือต่างๆ ของ SaaS สามารถช่วยให้นักการตลาดดึงดูดให้ลูกค้าใช้งานสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยความที่ SaaS มีเครื่องมือในการวิเคราะห์การใช้งานช่วยให้นักการตลาดสามารถติดตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานโดยสามารถระบุจุดที่น่ากังวลต่างๆ ของสินค้าและบริการจาก feedback ด้านการใช้งานของลูกค้า โดยสามารถนำจุดอ่อนตรงนั้นมาปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ให้ดีขึ้น เปลี่ยนให้ลูกค้าทั่วไปกลายเป็นลูกค้าที่ใช้งานสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง
เพิ่มมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า
การใช้ระบบ SaaS ช่วยให้นักการตลาดสามารถเพิ่มมูลค่าตลอดอายุการใช้งานของลูกค้า หรือ Customer Lifetime Valueได้ เนื่องจากบริษัท SaaS ส่วนใหญ่เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าเป็นแบบสมาชิกรายเดือน หรือรายปี จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ลูกค้าจะยังคงเป็นผู้ใช้สินค้าและบริการให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้แพลตฟอร์ม SaaS มักมีเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้นักการตลาดสามารถส่งเสริมการขายสินค้าที่กระตุ้นให้ลูกค้าอัปเกรดแผนการใช้งานและลดอัตราการเลิกใช้งานได้อีกด้วย
ตัวอย่าง Software-as-a-Service (SaaS)
HubSpot

HubSpot นำเสนอแพลตฟอร์ม CRM หรือการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ช่วยให้ธุรกิจติดตาม จัดการ และวิเคราะห์การโต้ตอบกับลูกค้าได้ โดยมีเครื่องมือที่ครบครันและการเชื่อมต่อที่จำเป็นสำหรับการตลาด ในการจัดการการขาย การจัดการเนื้อหา และการให้บริการลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ HubSpot’s Marketing Hub ยังได้รับรางวัลเป็น 1ใน 100 ผลิตภัณฑ์ที่สร้างความพึงพอใจสูงสุดของ G2 ประจำปี 2020 อีกด้วย
Slack

Slack เป็นเครื่องมือแชตที่มีความนิยมอย่างมากสำหรับธุรกิจ โดยปกติมักจะใช้สำหรับการส่งข้อความภายในองค์กรและการประชุมทางวิดีโอ แบรนด์ชั้นนำอย่าง Netflix และ Uber ต่างก็ใช้เครื่องมือนี้ในการทำงานเช่นเดียวกัน จุดเด่นของ Slack คือเราสามารถติดตั้งและเริ่มใช้แอปพลิเคชัน Slack ได้อย่างง่ายดายเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์พิเศษใดๆ
Zoom

Cr. Zoom
Zoom ให้บริการเครื่องมือ Video Conference สำหรับการจัดการประชุมทางไกล โดยบริษัทมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากทั่วโลกปรับตัวเข้าสู่รูปแบบการทำงานทางไกลเป็นหลัก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา จุดเด่นของ Zoom คือง่ายต่อการติดตั้งและใช้งานบนอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต
Canva

Canva เป็นบริษัทที่ให้บริการซอฟต์แวร์แบบ SaaS (Software as a Service) ซึ่งก็คือซอฟต์แวร์ที่ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดย Canva เน้นไปที่ให้บริการด้านการออกแบบโดยจุดเด่นในเรื่องของการใช้งานง่าย ไม่ต้องมีพื้นฐานด้านการออกแบบมาก่อน เนื่องจากมีเทมเพลตให้เลือกใช้งานหลากหลายที่เหมาะสำหรับการออกแบบสื่อประเภทต่างๆ เช่น โพสต์โซเชียลมีเดีย สไลด์งานนำเสนอ โปสเตอร์ เอกสาร และอื่นๆ โดยมีทั้งแพ็กเกจแบบฟรี และแบบเสียเงิน โดยแพ็กเกจแบบเสียเงินจะมีฟีเจอร์เพิ่มเติม เช่น คลังรูปและเทมเพลตพิเศษต่างๆ
สรุป
ปัจจุบันการใช้งานระบบ Software as a Service (SaaS) กำลังแพร่หลายไปทั่วในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวันของเรา ด้วยความที่ระบบ SaaS มีการใช้งานที่ค่อนข้างหลากหลายจึงสามารถใช้งานได้ในทุกอุตสาหกรรมและมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักการตลาดที่จะใช้เครื่องมือนี้ในการทำการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ
ตาคุณแล้ว
หลายคนอาจจะเข้าใจว่า SaaS เป็นเรื่องที่ไกลตัว เนื่องจากตนเองไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่จริงๆ SaaS ไม่ได้มีประโยชน์แค่สำหรับคนในวงการ Martech เท่านั้น แต่ยังสำคัญกับคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่หลากหลายโดยบางคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังใช้งานระบบ SaaS อยู่ ดังนั้นการศึกษาและทดลองใช้ SaaS อาจจะช่วยให้การทำงานของเราง่ายมากยิ่งขึ้น ส่วนใครที่นึกตัวอย่างอื่นๆ ของ SaaS ออกก็อย่าลืมมาแชร์กันว่าเคยใช้เครื่องมือไหนบ้างและประทับใจเครื่องมือนั้นอย่างไร