Blog

Domain Name คืออะไร? เลือกให้เหมาะกับธุรกิจยังไง?

• 22 พฤษภาคม 2023

Share on

หากพูดถึงการทำการตลาดออนไลน์ในยุคปัจจุบัน นอกจากการใช้งานโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ เพื่อโปรโมตสินค้าและบริการ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมี “เว็บไซต์” ของตนเอง ที่เปรียบเสมือนบ้านอันแสนอบอุ่นที่สามารถต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนได้อย่างเต็มที่

ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงต้องตกแต่งรูปลักษณ์ภายนอกให้สวยงาม และฟังก์ชันการใช้งานเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ การตั้ง Domain Name หรือชื่อเว็บไซต์ของคุณให้เหมาะสมกับธุรกิจอีกด้วย

การตั้ง Domain Name สำคัญแค่ไหน มีเคล็ดลับอะไรในการคิดชื่อ หรือตัวแปรอะไรที่นำมาใช้สังเกตว่าชื่อนั้นชื่อชื่อนี้เหมาะหรือไม่เหมาะกันบ้าง ในบทความนี้ผมจะพาคุณไปทำความเข้าใจ Domain Name แบบง่ายๆ พร้อมกับแนวทางการตั้งชื่อ Domain Name กันครับ

รู้จักกับ Domain Name (โดเมนเนม) 

Domain Name คือ ชื่อที่ใช้แทนตัวของเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แทนที่จะเป็นการใช้งานตัวเลข IP Address ที่แสนจะยาวและเข้าถึงยากนั่นเอง

ซึ่งในหนึ่งเว็บไซต์นั้นอาจมีหลายชื่อโดเมนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจและเหตุผลต่างๆ มากมาย และที่สำคัญคือชื่อที่จดไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อในภายหลังได้ หากจะเปลี่ยนคือต้องเสียงบประมาณในการจดชื่อโดเมนกับผู้ให้บริการใหม่อีกครั้ง

โดยช่วงปลายปี 2022 มีโดเมนอยู่ราวๆ 628.5 ล้านโดเมน และยังค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าของการใช้อินเทอร์เน็ตครับ และในปัจจุบันแม้แต่ Google เองก็ยังมีบริการรับจดโดเมนด้วยเช่นกัน

รูปแบบของโดเมน

สำหรับโดเมนทั่วไปมักจะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ โดยระดับเหล่านี้สามารถสังเกตความแตกต่างได้ง่ายๆ จากนามสกุลของโดเมน (TLD) ที่อยู่ด้านหลังสุด 

Generic Top-Level Domain (gTLD)

จะอยู่ในรูปแบบของ www.ชื่อโดเมน.รูปแบบของโดเมน 

โดยรูปแบบที่พบบ่อยได้แก่

  • .com เว็บไซต์ทั่วไป หรือเว็บไซต์องค์กร 
  • .gov เว็บไซต์ของรัฐบาล
  • .edu เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา

เช่น www.google.com

Country Code Top-Level Domain (ccTLD)

จะอยู่ในรูปแบบของ www.ชื่อโดเมน.รูปแบบของโดเมน.ประเทศ

โดยรูปแบบที่พบบ่อยได้แก่

  • .co เว็บไซต์ทั่วไป หรือเว็บไซต์องค์กร 
  • .go เว็บไซต์ของรัฐบาล
  • .ac เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา

แล้วตามด้วยชื่อประเทศต่างๆ เช่น .th (ประเทศไทย) .jp (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นต้น

เช่น www.google.co.th

ความสำคัญของการเลือกชื่อโดเมน

“ชื่อ” = “สิ่งระบุตัวตนของเว็บไซต์”

ชื่อโดเมนสำคัญขนาดไหน? มันคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเว็บไซต์ของคุณเกี่ยวกับอะไร ภาพลักษณ์ของคุณเป็นแบบไหน ธุรกิจของคุณเกี่ยวกับอะไร ไปจนถึงเว็บไซต์ของคุณต้องการนำเสนออะไรบ้าง

มันอาจเป็นเรื่องง่ายถ้าชื่อแบรนด์ของเรามีความสั้น จดจำง่าย และมีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว อย่าง contentshifu.com ที่ระบุชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ของคอนเทนต์ชิฟุ (และใช่ครับ เกี่ยวกับการทำคอนเทนต์แน่นอน)

แล้วถ้าคุณเพิ่งเริ่มการทำเว็บไซต์ ยังไม่มีชื่อที่ชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์มากพอจะทำอย่างไรดี ? เรามีแนวทางมาฝากกันครับ

แนวทางการตั้งชื่อ Domain Name ในปัจจุบัน

เห็นได้ชัดเลยครับว่าการตั้งชื่อโดเมนไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ บางครั้งอาจต้องมีการคิดถึงปัจจัยต่างๆ มากมายจากการใช้ชื่อดังกล่าว ในบทความนี้ผมจึงขอแนะนำ 7 วิธีการเลือกตั้งชื่อโดเมนให้เหมาะกับธุรกิจของคุณมาฝากกันครับ 

  1. ตั้งชื่อให้ตรงกับ Brand ให้มากที่สุด

ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้าครับ วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับการตั้งชื่อโดเมนคือ “ชื่อแบรนด์” ครับ เพราะเป็นสิ่งที่ตรงตัวของเราที่สุด เหมาะสำหรับการสร้างชื่อและการทำการตลาดของธุรกิจคุณมากที่สุด และที่สำคัญคือแต่ละแบรนด์มักมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองอยู่แล้ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างใดๆ ในชื่อมากนักเว้นแต่จะเป็นชื่อที่ซ้ำ หรือถูกตั้งอยู่ก่อนจากแบรนด์อื่นๆ 

  1. มี Keyword สำคัญในโดเมน

สิ่งสำคัญต่อมานอกจากความเป็น “แบรนด์” ที่เราทำการใส่ในชื่อโดเมนแล้ว คือการมีคำสำคัญ (Keyword) อยู่ข้างในชื่อ เพราะนอกจากจะเป็นการระบุชัดเจนว่าเว็บไซต์ของเราเกี่ยวกับอะไรแล้ว ยังส่งผลถึงการจัดลำดับตามหลัก SEO อีกด้วย

สำหรับท่านใดที่เพิ่งเริ่มการสร้างแบรนด์ หรือกำลังคิดทำเว็บไซต์ใหม่อาจใช้การ Keyword Research เพื่อตรวจสอบปริมาณคนค้นหาและประยุกต์กับการเลือกชื่อโดเมนด้วยก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยครับ

  1. ตั้งชื่อให้สั้น จำง่าย เป็นเอกลักษณ์

การตั้งชื่อให้ยาว และยากที่จะอ่านหรือทำความเข้าใจจนเกินไป อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่คนที่สนใจจะเข้าเว็บไซต์ของเราจำชื่อโดเมนไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือมีโอกาสที่จะทำให้คนที่เข้าเว็บไซต์ของเราจดจำภาพลักษณ์ของแบรนด์ไม่ได้เลยทีเดียว

  1. ไม่ตั้งชื่อโดเมนเนมที่แปลกจนเกินไป

แม้ว่าข้อที่แล้วจะแนะนำถึงความเป็นเอกลักษณ์ แตชื่อนั้นก็ไม่ควรแปลก มีความหยาบคาย หรือเข้าถึงยากเกินไปเพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณเอง ทั้งในส่วนของภาพลักษณ์ การจดจำ และความน่าเชื่อถือของแบรนด์ 

  1. หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อย่อและคำย่อ

สำหรับข้อนี้อาจเป็นสิ่งที่น่าแปลกสำหรับใครหลายคนว่าทำไมควรหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อย่อ เพราะแบรนด์อย่าง Yves Saint Laurent ยังใช้เป็นเว็บไซต์ ysl.com ได้เลย 

แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นข้อยกเว้นสำหรับแบรนด์ที่มีชื่อยาว ซึ่งอาจจะจำยาก ส่งผลต่อการอธิบายและการทำการตลาด แต่หากชื่อแบรนด์ หรือ Domain Name ที่คุณคิดเอาไว้นั้นสั้น มีความกระชับ เข้าใจง่ายอยู่แล้ว การใช้ชื่อย่อจะทำให้คนเกิดความสับสน และในบางครั้งชื่อย่อดังกล่าวก็อาจไปตรงกับหน่วยงาน หรือแบรนด์อื่นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายครับ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็น ขอให้เลี่ยงการตั้งโดเมนเป็นชื่อย่อดีกว่า

  1. ตรวจสอบปัญหาลิขสิทธิ์และความซ้ำซ้อนของชื่อโดเมนก่อนใช้งาน

โดเมนเนมเป็นสิ่งที่ใช้ร่วมกันทั้งโลก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหากจะมีชื่อที่ซ้ำซ้อนกัน รวมถึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ทำการจดชื่อโดเมนที่น่าสนใจเอาไว้ล่วงหน้า ดังนั้นผู้ที่กำลังจะทำเว็บไซต์ควรเช็คโดเมนเนมที่ตนเองสนใจเอาไว้ก่อน ว่ามีใครนำไปใช้แล้วหรือยัง และโดเมนดังกล่าวสามารถจดได้หรือไม่ อย่างไร 

  1. เลือกใช้นามสกุลของเว็บไซต์ให้เหมาะสม

ปัจจุบันมีนามสกุลเว็บไซต์เพิ่มขึ้นมากมายครับ และในหลายๆ ครั้งก็อาจมีความเป็นเอกลักษณ์และมีความยาวจนเกินไป เราจึงขอแนะนำว่าในช่วงเริ่มต้นอาจใช้นามสกุล .com แบบง่ายๆ ไปก่อน เพื่อการจดจำที่ง่ายที่สุด และดูไม่แปลกจนเกินไป

ความรู้เบื้องต้นในการจด Domain Name

แล้วเราสามารถจดโดเมนเนมได้อย่างไร ? ในปัจจุบันการจดโดเมนเนมสามารถทำได้ผ่านผู้ให้บริการจดโดเมนที่มีมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีความน่าเชื่อถือ ค่าบริการ และรายละเอียดแตกต่างกันออกไป โดยควรเลือกผู้ให้บริการที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง เชื่อถือได้ และควรจดชื่อโดเมนให้เป็นชื่อของคุณเป็นเจ้าของแบบเต็มตัว ไม่เช่นนั้นการจัดการต่างๆ ที่ตามมาอาจจะยุ่งยากเกินความจำเป็น

ที่สำคัญคืออย่าลืมต่ออายุโดเมนของคุณเองเพื่อไม่ให้ชื่อโดเมนนั้นตกเป็นของคนอื่น และอาจต้องเสียค่าซื้อชื่อโดเมนคืน ซึ่งมากกว่าการต่ออายุหลายเท่าครับ

สรุป

การตั้งชื่อ Domain Name ไม่ใช่เรื่องยากครับ เพราะหากพูดกันตามตรงเราสามารถใช้ชื่อแบรนด์ของตนเองในการตั้งได้ แต่หากแบรนด์ของคุณมีชื่อซ้ำ ยาวเกินไป หรือขาดความโดดเด่นน่าจดจำ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางที่ได้เขียนเอาไว้ 7 ข้อจะมีประโยชน์ให้กับคุณไม่มากก็น้อยครับ

Writer

Pond

ปอนด์ เป็นนักเขียนที่ชอบการหาข่าวและศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นชีวิตจิตใจ โดยคิดเสมอว่าต่อให้เป็นเรื่องเล็กน้อยขนาดไหนก็สามารถนำมันมาเป็นไอเดียทางการตลาดและเทคโนโลยีได้

More From Me