ผมเองก็สนใจลองด้าน Content นะ แต่ไม่มั่นใจเลยครับ
เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ วัยใกล้ๆ กัน ต่างก็เป็นบล็อกเกอร์เจ้าของเพจดังกันหลายคนเลย
ผมที่เป็น No Body จะทำยังไงดีครับ?
มีรุ่นน้องมหาลัยคนนึงเข้ามาขอคำปรึกษาจากอร เหตุผลไม่ซับซ้อน เนื่องจากว่าเราเองก็เคยผ่านสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับเขา ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนที่อยากสมัครเข้าค่ายคนทำเว็บ ในสาขาด้าน Content และเคยตกรอบมาก่อน ..จากการที่เป็น No Body ที่ไม่ได้มีผลงานอะไร มีแต่ Passion เปล่าๆ ก็อาจไม่ช่วยอะไร..
สาย Content เองก็เข้มข้นขึ้นทุกปีๆ เดี๋ยวนี้เด็กอายุสิบกว่าๆ ก็เป็นเจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามหลักหมื่นหลักแสนได้
“ผมที่เป็น No Body จะทำยังไงดีครับ?” น้องถามอีกครั้ง หลังจากที่ได้ยินอรบอกไปอย่างนั้น คิดว่าพอได้ฟังแบบนี้แล้ว เพื่อนๆ ผู้อ่านก็คงเกิดคำถามคล้ายๆ กัน
คนทำคอนเทนต์ชื่อดังมีมากมาย แล้วคนที่เพิ่งมาใหม่จะวางตัวยังไงในสายงานนี้?
และนี่คือคำแนะนำที่เราอยากจะขอมอบให้กับน้องแน๊ตคนนั้น รวมถึงอยากจะเขียนเล่าให้กับ นักเขียนมือใหม่ ทุกท่านด้วยค่ะ โดยหวังว่าบทความนี้จะเป็น Guidebook ที่ดีสำหรับมือใหม่ เริ่มต้นเข้าสู่วงการ Online Content Creator นะคะ
คำแนะนำ 7 ประการ สำหรับนักเขียนหน้าใหม่
1. เข้าใจความแตกต่างระหว่าง Influencer และ Professional Content Creator
การที่น้องแน๊ตรู้สึกตื่นตระหนก นั่นเป็นเพราะค่านิยมว่า คนทำ Online Content คือนักปลุกกระแส นั่นทำให้เรามองว่า ความสำเร็จของคนๆ นึง อยู่ที่ชื่อเสียงของคนๆ นั้น หรือผู้ติดตามของคนๆ นั้น
คนมีชื่อเสียงคือคนมีฝีมือ? ถ้างั้นคนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก คือคนไม่มีฝีมือ? เราคิดว่าเรื่องนี้วัดกันตรงๆ แบบนี้ไม่ได้ และโดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าค่านิยมนี้ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
เรื่องนึงที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ คือ คนที่มีแฟนคลับเยอะๆ และชนะในรายการแข่งร้องเพลง มักจะไม่ใช่คนที่ร้องเพราะที่สุด ส่วนคนที่ร้องเพราะที่สุด มักจะไม่ชนะ สุดท้ายยังไงทั้งสองก็ยังสามารถมีอาชีพเป็นนักร้องได้เหมือนกัน เพียงแต่ลักษณะการดำเนินอาชีพต่างกันเฉยๆ
เราถามน้องต่อไปว่า “น้องแน๊ตคิดว่าตัวเองอยากทำ Content เพราะอะไร สนใจอยากเป็น ‘Influencer’ หรือว่าสนใจอยากเป็น ‘Professional Content Creator’ หรือคนที่ทำคอนเทนต์เป็นสายอาชีพ?”
เรารอคำตอบนี้ของน้อง เพราะถ้าสนใจสายแรก อรคงไม่มีคุณสมบัติพอที่จะแนะนำได้ (Content Shifu ที่คุณอ่านอยู่นี้ก็ยังไม่ใช่เว็บที่โด่งดังมากนัก) แต่ถ้าสนใจสายหลังซึ่งก็คือการทำมาหากิน เป็นมืออาชีพที่สร้างรายได้ได้ อันนี้เรายังคุยกันต่อได้อยู่
“อ้า..! ถ้าอย่างนั้นผมว่าจริงๆ แล้วผมสนใจเป็นแบบหลังนะครับ”
โอเค…ถ้าอย่างนั้นเราก็มีเรื่องให้คุยต่อได้
ถ้าอยากเป็นคนทำคอนเทนต์ อยากให้มุ่งมั่นมองว่า เราจะทำผลงานให้สังคมยังไงได้บ้าง อย่าเพิ่งไปมองเป็นการแข่งขัน หรือวัดผลกันด้วยชื่อเสียง
2. เข้าใจความแตกต่างระหว่าง Editorial Content และ Marketing Content
เป็นคนทำคอนเทนต์ สามารถไปทำงานที่ไหนต่อได้บ้าง? ถ้าแบ่งตามประเภทของบริษัทนายจ้าง ก็มองได้เป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ Media (สื่อ), Brand (แบรนด์) และ Agency (เอเจนซี) สื่อก็คือธุรกิจที่นำเสนอคอนเทนต์ออกสู่สังคมเป็นธุรกิจหลัก, แบรนด์ คือผู้ที่ดำเนินธุรกิจต่างๆ และต้องการคอนเทนต์สร้างการดึงดูด และเอเจนซี คือผู้ที่ได้รับจ้างจากแบรนด์ให้ทำคอนเทนต์ให้แบรนด์ลูกค้าเจ้าต่างๆ
แต่ถ้าให้มองตามประเภทของคอนเทนต์จริงๆ เราคิดว่ามองได้เป็นสองประเภท คือ
- Editorial Content: คอนเทนต์จากทีมบรรณาธิการ คอนเทนต์ในเรื่องต่างๆ หลากหลายที่สื่อต้องการนำเสนอสู่สังคม
- Marketing Content: คอนเทนต์เพื่อการตลาด เพื่อการโปรโมทไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
ความแตกต่างนี้ ทำให้ทักษะที่ใช้ เพื่อนร่วมงานที่ได้เจอ เป็นคนละแบบกัน
ถ้าเป็นสื่อ คอนเทนต์หลักๆ ที่จะได้ทำคือ Editorial Content แต่ว่าถ้าเป็นแบรนด์หรือเอเยนซี หลักๆ แล้วจะทำ Marketing Content เมื่อเข้าใจความแตกต่างแล้ว คุณก็พอจะมีไอเดียคร่าวๆ ว่าจะเลือกร่วมงานกับที่ไหนดี สำหรับทุกๆ ที่ เชื่อว่ามีพื้นที่ให้น้องๆ มาลองรับงานลองฝึกงานค่ะ
3. หาความรู้ในสาย Digital Marketing ติดตัว
ไม่ว่าคุณจะสนใจ Editorial Content หรือ Marketing แต่สุดท้ายมาถึงปัจจุบันแล้ว เราก็มองว่ามันต้อง Cross Function ได้ คือ คนๆ เดียวกัน ต้องมีให้ครบ ทั้งมุมมองแบบ Marketing และมุมมองแบบ Media
นอกจากนี้ เขียนเก่ง นำเสนอดีอย่างเดียวก็คงไม่พอ แต่ต้องเข้าใจโลกดิจิทัลด้วย จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เรื่อง Marketing ในโลกดิจิทัลเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือต่างๆ บนโลกดิจิทัลได้อย่างชำนาญ ไม่เคอะเขิน และรู้จัก Productivity บนโลกออนไลน์ เป็นต้น
ใครที่ยังนึกไม่ออกว่านักเขียนควรต้องมีทักษะดิจิทัลอะไรบ้าง เรียนรู้ได้เพิ่มเติมในคอร์สเรียนสาย Content ของพวกเรากันค่ะ
4. ทำ Portfolio ทั้งงานเขียนของตนเอง และงานเขียนตามโจทย์
แน่นอนว่างานเขียนไม่ใช่อะไรที่ดูได้จากใบปริญญา แต่ต้องดูที่ตัวผลงาน เพราะฉะนั้นการมี Portfolio จึงสำคัญมาก ไม่แพ้กับคนทำงานเป็น Designer
พูดตามตรงว่า เดี๋ยวนี้เวลาที่อยากจะจ้างให้ทำงานเขียน โดยส่วนตัวดูว่าคนๆ นั้นมี Portfolio เป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่ดูแค่ที่บล็อกหรือเพจของคนๆ นั้น แต่อยากเห็นว่าเขาเคยทำงานมาบ้างหรือเปล่า? เวลาเขาทำงานตามโจทย์ เขาทำออกมาเป็นยังไงบ้าง
[suggest title=””]ไม่ใช่บล็อกเกอร์ทุกคนที่จะรับจ้างทำงานเขียนได้ดี
คนที่ทำเพจดังได้ ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็น Professional writer ที่ดี เคยมีประสบการณ์จ้างน้องคนนึงที่เป็นเจ้าของเพจดังพอควร ให้ช่วยเขียนคอนเทนต์ในเนื้อหาตามโจทย์ แต่ผลงานเขียนที่ส่งมาสุดท้ายก็ไม่ผ่านและไม่ได้จ้างเขาให้ช่วยรับจ็อบต่อ การที่เขาเก่งในเพจของเขาเอง ไม่ได้แปลว่าเขาจะเขียนเก่งในเรื่องที่ผู้ว่าจ้างต้องการได้[/suggest]
อย่างไรก็ตาม นอกจากการมีประสบการณ์รับงานนอกจะมีประโยชน์แล้ว การมีประสบการณ์คิดงาน เขียนงานเป็นของตัวเองก็มีประโยชน์เหมือนกัน เป็นเพราะ..
- ในวันที่เริ่มต้นใหม่สุดๆ และไม่มีพอร์ต การทำงานเขียนของตัวเอง ก็ถือเป็นพอร์ตติดตัว สำหรับเริ่มต้นรับงาน Part Time ได้
- ในวันที่มีพอร์ตอื่นๆ อยู่แล้ว ก็ยังมีประโยชน์ ถือเป็นการช่วยให้ผู้จ้างได้เห็นมุมมองโดยตรงของนักเขียนได้อย่างชัดเจน
5. ลองเขียนหลายๆ สาย แต่ให้หาความเฉพาะทางของตัวเอง
ข้อที่แล้วเราแนะนำว่าอยากให้คุณลองรับงาน Part Time ก็จริง แต่ Portfolio ไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด สำคัญที่สุดคือการสะสมประสบการณ์มากกว่า ซึ่งประสบการณ์จากการลองทำงานหลายๆ แบบ หลายๆ สาย จะช่วยให้คุณเก่งขึ้น (จริงๆ นะ)
หลายๆ แบบ หลายๆ สายที่ว่า จริงๆ ก็มีหลายมุมมอง คือ
- ลองทั้ง Editorial Content และ Marketing Content
- แนวการเขียนต่างๆ เช่น แนวให้ความรู้ แนวสนุก แนวรายงาน แนวรีวิว แนวครีเอทีฟต่างๆ เป็นต้น
- อุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรมยอดนิยม เช่น ท่องเที่ยว อาหาร กีฬา และอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก (ที่ใช้ common sense ลำบาก)
ลองหลายๆ แบบเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ แต่ท้ายสุดแล้วโดยส่วนตัวก็แอบเชียร์ให้แต่ละคน มีแนวถนัดเฉพาะทางของตัวเอง เพราะจะเป็นสิ่งที่ Add Value ให้กับคุณได้มาก ในขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน อาจใช้เวลา Explore ไปเรื่อยๆ เป็นปีก็ไม่แปลก
6. คลุกคลีกับวงการนั้นๆ ในโลกออฟไลน์ด้วย

รูปเมื่อก่อนที่ได้ไปเข้าร่วมอีเวนต์ต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูล
ในข้อที่แล้วได้แนะนำให้คุณลองหาแถวถนัดเฉพาะทางของตัวเอง ก็เลยมีสิ่งที่อยากบอกเสริมเพิ่มเติมในข้อนี้
การเป็นนักเขียนเฉพาะทาง ไม่ได้หมายความว่า คุณเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นเยอะ อ่านข้อมูลนั้นๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตมาเยอะเพียงอย่างเดียว
ถึงเป็นนักเขียนออนไลน์ แต่ก็ต้องพาตัวเองออกมาจากโลกออนไลน์ด้วย อย่างเช่นเคสของเราที่เป็นนักเขียนสาย Digital/Technology แม้ออนไลน์อาจดูเหมือนแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดในด้านนี้ แต่การเข้าร่วมกับกลุ่มสังคม Community ของคนสายนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ในโลกออฟไลน์เอง ก็มีคอนเทนต์มากมายที่คุณหาไม่ได้จากออนไลน์เหมือนกัน และคอนเทนต์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการรับฟังจากปากคนในวงการนั้นๆ ด้วยตนเอง
ใครที่คิดว่าตัวเองเป็น Introvert ไม่ค่อยชอบเจอคนเยอะๆ เท่าไร จริงๆ แล้วก็สามารถฝึกให้เข้างานต่างๆ ได้ แต่บทความนี้จะยังไม่ลงรายละเอียดในหัวข้อย่อยนี้
7. ความสม่ำเสมอคือหัวใจ
พูดกันจริงๆ แล้ว งานเขียนเป็นงานที่เรียกได้ว่า “ใครๆ ก็ทำได้” (ขอแค่อ่านออกเขียนได้) การสร้างความแตกต่างด้วยฝีมืออาจทำได้ไม่ง่ายนัก โดนก็อปปี้ก็ง่ายอีกต่างหาก
สิ่งที่แยกความต่างได้ระหว่างนักเขียนสองคน เรื่องหนึ่งคงเป็น “นักเขียนที่ขยันปานกลาง” กับ “นักเขียนที่ขยันทำผลงานสม่ำเสมอ”
ความสม่ำเสมอไม่ได้แปลว่าเขียนเยอะๆ และหายไปพักร้อนยาวๆ แต่หมายถึง เขียนเรื่อยๆ สร้างตัวตนเรื่อยๆ ทำผลงานเรื่อยๆ ติดตามข่าวสารเรื่อยๆ ไม่หายหน้าหายตากันไปนาน
ความสม่ำเสมอ – ข้อนี้เป็นข้อที่พูดปากเปล่าได้ง่ายที่สุด แต่ทำจริงได้ยากที่สุด
คนที่คิดว่าชอบทำงานเขียน เอาจริงๆ แล้วก็ยังทำข้อนี้ได้ยากที่สุด เพราะจะเขียนต่อเมื่อมีอารมณ์เขียน ถ้าไม่มีอารมณ์ ก็งานไม่ออก (เคยเป็นและยังเป็นอยู่บ้าง ฮ่าๆ) เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกับทุกๆ งาน แหละค่ะ มันไม่ได้สนุกทุกครั้งหรอก บางทีก็ต้องขืนใจบ้างอะไรบ้าง เพื่อทำให้เสร็จ
เท่าที่ทำมา ก็ยืนยันจริงๆ ว่า ความสม่ำเสมอ มีผลสำคัญต่อการรักษามาตรฐานของงานของตัวเอง รวมถึงการสร้างการรับรู้ในสายตาคนอ่านผลงาน
ยังเชื่ออยู่ว่ากับงานเขียน “ความขยัน” สำคัญยิ่งกว่า “พรสวรรค์” เสียอีก
สรุปส่งท้าย
สำหรับคนเป็นมือใหม่ สิ่งที่ต้องคิดคือการพัฒนาตัวเอง มากกว่าการกังวลว่า “จะสู้เขาได้ไหม” โดยส่วนตัวเชื่อว่างานเขียนที่ดี คือเกิดจาก Internal force มันมาจากแรงข้างในที่รู้สึกว่าอยากเขียนเอง หลายๆ คนบอกว่า “ไอ้แรงข้างในของหนู มันมีแต่เรื่องไร้สาระอะค่ะพี่ รู้สึกว่าแนวทางตัวเองมันเป็น Professional ไม่ได้” ถ้างั้นเราก็ขอแนะนำว่าช่วงแรกอาจจะลองฝืนๆ ตัวเองบ้าง ด้วยการรับจ้างทำงานดูก่อน เขียนตามหน้าที่ไปบ่อยๆ สุดท้ายมันก็ชินมากขึ้น
ตัวเราเองก็เริ่มต้นจากการเขียนไร้สาระ เขียนแนวไดอารีเล่าความโก๊ะบรมโก๊ะของตัวเอง ขำๆ ในช่วงแรกๆ ในวันที่ตัดสินใจว่าอยากจะลองเริ่มจริงจังกับมัน ก็ตัดสินใจทำในเรื่องที่ยากขึ้นที่ไม่เคยทำมาก่อน รีวิวร้านอาหารบ้าง เขียนรีวิวแอปมือถือบ้าง สรุปบทเรียนให้เข้าใจง่ายบ้าง ไปสรุปตามงานต่างๆ บ้าง รับจ้างเขียนบ้าง จนมาพบว่าสายที่สนใจที่สุดคือสาย Digital Marketing และเทคโนโลยี
ตาคุณแล้ว
สำหรับนักเขียนที่สนใจจะลองรับงานดู เราก็อยากจะบอกว่า Content Shifu เปิดรับ Shifu Writer นะคะ ฮ่าๆ สำหรับ Shifu Writer จะเป็นแนวเขียนยาวๆ หน่อย แต่ถ้าใครสนใจทำคอนเทนต์แนวครีเอทีฟ โพสต์ลงโซเชียล อันนี้ไม่ได้มีเขียนรับสมัครไว้ แต่ก็ลองทักมาได้เช่นกัน : )
เราจะได้ร่วมงานกันหรือไม่ ไม่สำคัญ แต่หวังว่า 7 ข้อที่เล่ามานี้จะมีประโยชน์ และอยากเห็นผู้อ่านนำไปปรับใช้กันนะคะ เรายังมีบทความอีกหลายตอนเกี่ยวกับด้าน Blogging & Content Creation ติดตามอ่านหัวข้อนี้ได้ที่นี่